ใครคือ อะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ

โดย กลุ่มอัชบาบุ้ลอิสลาม



“อัซ-ซุนนะฮ” ในภาษาอาหรับเป็นคำที่แตกออกมาจากรากศัพท์ คำว่า “ซันนะ-ยะซินนุ” และ “ยะซุนนุ-ซันนะนัน ฟะฮุวะมัซนูน”

เช่นคำว่า “ซันนัล-อัมเราะ” ซึ่งแปลว่า ทำให้เรื่องราวนั้นกระจ่าง

“อัซ-ซุนนะฮ” หมายถึงแนวทาง วิถีการใช้ชีวิต ซึ่งใช้ได้ทั้งในสิ่งที่ดี หรือเลว ฮะดีษของท่านนบี(ศ็อลฯ)ที่กล่าวถึงเรื่องนี้….

แน่นอนพวกท่านจะปฏิบัติตามแนวทางของกลุ่มชนก่อนหน้าพวกท่านทีละคืบทีละศอก(บุคอรีและ
มุสลิม)

หมายถึง แนวทางต่างๆทั้งในเรื่องศาสนา และเรื่องทางโลกของพวกเหล่านั้น และอีกฮะดีษหนึ่งคือ..

ผู้ใดกำหนดแนวทางที่ดีหนึ่งๆขึ้นมาในอิสลาม เขาย่อมได้รับผลบุญของมัน และผลบุญของผู้ที่ปฏิบัติต่อจากนั้น โดยไม่มีสิ่งใดๆจากผลบุญของเขาบกพร่องไปเลย และผู้ใดกำหนดแนวทางที่ชั่วหนึ่งๆขึ้นในอิสลาม(มุสลิม)

ซึ่งคำว่าแนวทาง ในฮะดีษดังกล่าวก็คือ วิธีการดำเนินชีวิตนั้นเอง

คำว่า “อัซ-ซุนนะฮ” ทางวิชาการ :

หมายถึงทางนำที่ท่านรอซู้ล(ศ็อลฯ) และบรรดาซอฮาบะของท่านดำรงอยู่ ทั้งในเรื่องของความรู้ หลักการยึดมั่น คำพูดการปฏิบัติ และการยอมรับ

นอกจากนี้คำว่า อัซ-ซุนนะฮยังถูกใช้เกี่ยวกับซุนนะฮทางอิบาดาต และหลักการยึดมั่นอื่นๆอีกด้วย ซึ่งคำตรงข้ามของอัซ-ซุนนะฮในที่นี้ก็คือ อัลบิดอะฮ(สิ่งอุตริ)

ท่านรอซู้ล(ศ็อลฯ)กล่าวว่า ซึ่งแท้จริงแล้วผู้ใดจากพวกท่านได้มีชีวิตอยู่หลักจากฉัน แน่นอนเขาจะได้พบการแตกแยกกันอย่างมากมาย ดังนั้น พวกท่านจงยึดมั่นต่อแนวทางของฉัน และแนวทางของบรรดาเคาะรีฟะฮ ผู้ได้รับทางนำ ผู้เที่ยงธรรม(เศาะหี๊หซุนันอบีดาวูด ของอัลบานีย์)

คำว่า “อัลญะมาอะฮ” ในทางภาษา

มาจากคำว่า “ญัมอุ” หมายถึง การรวมสิ่งหนึ่งโดยการเอาแต่ล่ะส่วนเข้ามาไกล้กัน เช่นกล่าวว่า “ญะมะอตุฮู ฟัจญ์ตะมะอะ”( แปลว่า ฉันได้รวบรวมมัน ดังนั้น มันก็มารวมอยู่ด้วยกัน)

เป็นคำที่แตกออกมาจากคำว่า “อัล-อิจญ์ติมาอ”หมายถึงมนุษย์หมู่มาก หรือกลุ่มของมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวเข้าด้วยกัน และมีเป้าหมาย หรือจุดประสงค์เดียวกัน

ฉะนั้น อัล-ญะมาอะฮ ก็คือ กลุ่มชนที่มาร่วมเข้าอยู่ด้วยกันบนกิจการใดกิจการหนึ่ง (ดูพจนานุกรมอาหรับเล่มต่างๆเช่น ลิซานุลอะรับ มุคตารุศ –ศิหาห์ อัล-เกาะมูซุล-มุหีฏ(หมวดอักษร ญีม มีม อัยน์)

คำว่า อัล-ญะมาอะฮ ทางวิชาการ :

หมายถึงญะมาอะฮของบรรดามุสลิม พวกเขาคือบรรพชนยุคต้น(อัส-สะลัฟ) ของอุมมะฮจากเหล่าบรรดาเศาะฮาบะฮ ตาบีอีน และบรรดาผู้เจริญรอยตามแนวทางเดียวกับพวกเขาหลังจากนั้นเรื่อยไปตราบจนถึง วันกิยามะห์ พวกเขาต่างร่วมอยู่ด้วยกันในแนวทางแห่งอัล-กุรอาน และอัซ-ซุนนะฮ และดำเนินชีวิตไปตามสิ่งที่ท่านรอซูล(ศ็อลฯ)เคยเป็นมาทั้งสิ่งที่เผยออกมาภายนอก และสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน

พระองค์อัลลอฮ(ซบ)ทรงใช้ และกำชับให้ปวงบ่าวผู้ศรัทธาทั้งหลายอยู่ในสภาพของการเป็นญะมาอะฮ การรวมเข้าด้วยกัน และพึ่งพาอาศัยกัน และทรงห้ามการแตกแยกออกเป็นพรรคเป็นพวก และการทะเลาะต่อกันดั่งที่ได้ตรัสใว้ในอายะห์ที่ว่า…

และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮโดยพร้อมเพรียงกันทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน(อาลิอิมรอน 103)

และอายะห์…

และพวกเจ้าจงอย่าเป็นเช่นบรรดาผู้ที่แตกแยก และขัดแย้งกัน หลังจากที่บรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งได้มายังพวกเขาแล้ว(อาลิอิมรอน 106)

ท่านนบี(ศ็อลฯ)กล่าวว่า…

และแท้จริงศาสนานี้จะแตกแยกออกเป็น 73 จำพวก โดย 72 จำพวก นั้นอยู่ในนรก ส่วนจำพวกหนึ่งอยู่ในสวรรค์ นั้นคือ อัล-ญะมาอะฮ

(ซอหี๊หซุนันอาบีดาวูด ของอัลบานีย์)

อีกฮะดีษหนึ่งคือ…

พวกเจ้าจงยึดมั่นอัล-ญะมาอะฮ และจงระวังการแตกแยก เพราะแท้จริงชัยฎอนจะอยู่พร้อมกับผู้ที่อยู่คนเดียว และมันจะไกลกว่าจากผู้ที่อยู่ 2 คน และผู้ใดต้องการจะอยู่ตรงกลางของสวรรค์ ดังนั้น เขาจงสังกัดอยู่ในญะมาอะฮ (บันทึกโดยอีม่ามอะหมัด รับรองว่าซอหี๊ห โดยอัลบานีย์)

เศาะฮาบะฮอาวุโสคือ อับดุลลอฮ บินมัสอูด(เราะฎิฯ)กล่าวว่า…

ญะมาอะฮคือ สิ่งที่สอดคล้องกับสัจธรรม แม้นว่าท่านจะอยู่(บนสัจธรรมนั้น)เพียงลำพังก็ตาม (อัล-ลาลิกาอีย์ ในหนังสือ ชัรห์ อุศูล อิอติกอดอะฮลิซซุนนะฮ วัลญะมาอะฮ

ดังนั้นอะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ ก็คือบรรดาผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในซุนนะฮของท่านนบี(ศ็อลฯ) และซุนนะฮของซอฮาบะฮ ปฏิบัติตามและเจริญรอยตามแนวทางเดียวกับพวกเขา ทั้งในเรื่องของการเชื่อมั่น คำพูด การกระทำและดำรงมั่นอยู่บนการปฏิบัติตาม(อิตบาอ) และห่างไกลจากการอุตริ(บิดอะฮ)

และพวกเขานี้เองเป็นพวกที่จะคงอยู่อย่างสง่าผ่าเผย และได้รับการช่วยเหลือ(จากอัลลอฮ) ตราบจนวันกิยามะฮ ซึ่งการปฏิบัติตามพวกเขา คือทางนำ(ฮิดายะฮ) ในขณะที่การฝ่าฝืน หรือขัดแย้งไปจากนี้ถือเป็นความหลงผิด(เฎาะลาละฮ)

อะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ มีความแตกต่างจากลุ่มอื่นๆอย่างชัดเจนทั้งนี้ด้วยลักษณะ คุณสมบัติ และข้อจำแนกหลายประการด้วยกัน

1. พวกเขาคือกลุ่มชนที่ยึดถือแนวทางสายกลาง และดุลยาภาพระหว่างความเกินเลยกับความหย่อนยาน ระหว่างความคลั่งไคล้กับการถอนตัวไม่ยุ่งเกี่ยว เช่นนี้ไม่ว่าในบทที่ว่าด้วยเรื่องอะกีดะอ บทบัญญัติ(หุก่ม) หรือความประพฤติก็ตามแต่ พวกเขาอยู่ในเส้นทางสายกลางอย่างชัดเจนหากเทียบกับกลุ่มต่างๆ ของอุมมะฮอิสลาม ในขณะที่ถือว่าอุมมะฮนี้คือประชาชาติสายกลางท่ามกลางลัทธิ หรือศาสนาอื่นๆทั้งหลาย

2. พวกเขาปฏิบัติตามอัลกุรอานและอัซซุนนะฮ ให้ความสำคัญและยอมรับต่อหลักฐานที่มีมาจากแหล่างทั้งสอง และมีความเข้าใจต่อมันอย่างถูกต้องตรงตามเป้าหมายแห่งแนวทางของอัส-สะลัฟ

3. ในทัศนะของพวกเขาไม่ได้ยกฐานะของอิม่ามใดๆ ให้เป็นผู้ที่เลอเลิศ(หรือเป็นมะอศูม : ผู้ไร้ความผิดพลาด) หรือยกเป็นผู้ที่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หรือต้องละทิ้งในสิ่งที่เขากล่าว(หรือตะอัศศุบ) แต่พวกเขาจะให้ความสำคัญดังกล่าวแก่ท่านรสูลุลลอฮเพียงผู้เดียวเท่านั้น และพวกเขาคือกลุ่มชนที่ทราบดีถึงสภาพการณ์ต่างๆ ตลอดถึงคำพูดและการปฏิบัติของท่านรสูลุลลอฮมากกว่าผู้ใด เหตุนี้พวกเขาจึงเป็นกลุ่มชนที่รักต่ออัซ-ซุนนะฮมากที่สุด มุ่งมั่นต่อการปฏิบัติตามอัซ-ซุนนะฮ และเป็นกลุ่มชนที่ให้ความเป็นมิตรต่อชาวอัซ-ซุนนะฮมากที่สุดอีกด้วย

4. พวกเขาละทิ้งการเป็นปรปักษ์กันใน(ข้อขัดแย้งทาง)ศาสนา แต่จะให้ความสนิทไกล้ชิดกับพี่น้องร่วมศาสนาทุกฝ่าย และไม่ทะเลาะโต้เถียงกันในปัญหาหะลาล-หะรอม แต่พวกเขาจะพยายามปฏิบัติตนให้อยู่ในอิสลามในทั้งหมด

5. พวกเขาให้ความสำคัญต่อชนยุคสะละฟุศศอและห์ และศรัทธามั่นว่าแนวทางของยุคสะลัฟเท่านั้นที่ปลอดภัย รู้จริงและพึงเชื่อถือมากที่สุด

6. พวกเขาไม่ใช้วิธีการตะอวีล(การตีความหมายเอาเอง) แต่พวกเขาจะยอมรับและจำนนต่อสิ่งที่มีอยู่ในบัญญัติ และถือว่าหลักฐาน(อัก-นักดุ)นั่นย่อมดี และเหนือกว่าการใช้ปัญญา(อัล-อักลุ)อย่างแน่นอน

7. ในปัญหาหนึ่งๆ พวกเขาจะพยายามรวบรวมหลักฐานข้อมูลต่างๆ เอาใว้อย่างมากมาย และยื่นเสนอส่วนที่คลางแคลงสงสัยนั้นต่อให้แก่ศาลอิสลามเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด (คือไม่สรุปด้วยความคิดตนเอง)

8. พวกเขาคือแบบอย่างของบรรดาคนดี(ศอและห์)ทั้งหลาย เป็นผู้ที่ได้รับทางนำสู่ความจริง โดยปราศจากความอ่อนไหว (ต่อภาวะใดๆ) และพวกเขาจะเห็นพ้องกันในกรณีสำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องอะกีดะอ มีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งด้านความรู้ และการอิบาดะฮ มีทั้งการ ตะวักกัล(มอบหมาย) ต่ออัลลอฮ และการอาศัยสาเหตุ(อัสบาบ)มีความคิดทั้งให้แสวงความสุขสบายในดุนยา และการทำตนให้สมถะในเวลาเดียวกัน เป็นบุคคลที่มีทั้งความหวาดกลัว และความมุ่งหวัง ความรักและความเกลียดชัง มีความเมตตา อ่อนโยน ความจริงจัง หรือความเคร่งครัด และพวกเขาจะไม่แตกแยก หรือขัดแย้งกัน แม้จะอยู่ต่างสมัย หรือต่างสถานที่กันก็ตาม

9. พวกเขาจะไม่กล่าวอ้างชื่ออันใดนอกจากอัล-อิสลามอัซ-ซุนนะฮและอัล- ญะมาอะฮ (เช่นไม่อ้างแนวทางใดนอกจากนี้)

10. พวกเขาจะมุ่งมั่นต่อการเผยแผ่อะกีดะอที่ถูกต้อง ศาสนาอันเที่ยงธรรม

และพยายามสั่งสอนตักเตือน และให้ความสำคัญต่อกิจการงานต่างๆ

ของผู้คนทั้งหลาย

11.พวกเขาเป็นมุนุษย์ที่มีความอดทนหรือยืนหยัดที่สุดต่อคำพูดความน่าเชื่อถือ ศรัทธาและการดะวะฮ(เชิญชวน)ของตนเอง

12.พวกเขามุ่งมั่นต่อการเป็นญะมาอะฮ ความสมานฉันท์ และการเรียกร้อง เร่งเร้าผู้คนให้มีสิ่งดังกล่าวนี้ พร้อมยับยั้งและตักเตือนผู้คนจากการแตกแยกและการแบ่งพรรคแบ่งพวก

13.เป็นพวกที่อัลลอฮทรงปกป้องมิให้มีการกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นกาฟิร แต่จะที่ตัดสินต่อบุคคลอื่นด้วยความยุติธรรมเสมอ

14.พวกเขามีความรักใคร่เมตตาต่อกัน ให้ความช่วยเหลือ เกื้อกูลและส่งเสริมซึ่งกันและกัน และพวกเขาจะไม่แสดงออกซึ่งความเป็นมิตร หรือศัตรู(ด้วยพื้นฐานอื่นใด)นอกจากบนพื้นฐานของศาสนาเท่านั้น

โดยภาพรวมแล้วพวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีมารยาทดีเลิศที่สุด มีความมุ่งมั่นต่อการขัดเกลาตนเอง ด้วยการฏออะฮต่ออัลลอฮ เป็นผู้ที่มีวิศัยทัศน์ และแนวคิดที่กว้างไกล มีจิตใจที่เปิดกว้างที่สุดต่อความคิดที่แตกต่าง พร้อมมีความรู้อย่างลึกซึ้งที่สุดต่อมารยาท และหลักเกณ์ของการขัดแย้ง(คิลาฟ)

สรุปคำนิยามคำว่า อะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ ได้ดังนี้ คือเป็นกลุ่มชนที่ท่านนบี(ศ็อลฯ) สัญญาว่าจะได้รับความสำเร็จเหนือท่ามกลางกลุ่มชนอื่นๆ ทั้งนี้ด้วยคุณลักษณะอันเคร่งครัดในอัซซุนนะฮ และการปฏิบัติที่สอดคล้องตรงกับสิ่งที่มีมาจากซุนนะฮของท่านรสูลุลลอฮ ทั้งในเรื่องอะกีดะอ ข้อชี้นำ ลักษณะการใช้ชีวิต จรรยามารยาท และการอยู่ร่วมกันเป็นญะมาอะฮ

เหตุนี้คำนิยามของอะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ จึงไม่แตกต่างกันเลยจากคำนิยามของ อัส-สะลัฟ ดังที่เราทราบแล้วว่า อัส-สะลัฟ ก็คือ บรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามกีตาบุลลอฮ และยึดมั่นต่ออัซ-ซุนนะฮ ดังนั้นอัส-สะลัฟ พวกเขาก็คือ อะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮที่ท่านนบี(ศ็อลฯ)หมายถึง และเช่นเดียวกัน อะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ ก็คือ อัส-สะละฟุศศอและห์ และผู้ที่เจริญรอยตามแนวทางดังกล่าว

นี่คือความหมายที่เจาะจงที่สุดของคำว่า “อะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ” ส่วนพวกบิดอะฮ และพวกยึดถือตามอารมณ์กลุ่มอื่นๆ เช่นพวกเคาะวาริจญ ญะฮมีญะฮ, มุรญีอะฮ, ชีอะ, และพวกบิดอะฮกลุ่มต่างๆจะไม่ถูกจัดอยู่ในความหมายดังกล่าวนี้

ดังนั้น คำว่า “อัซ-ซุนนะฮ” จึงตรงข้ามกับคำว่า “บิดอะฮ” และ “ญะมาอะฮ” ตรงข้ามกับคำว่า “ฟิรเกาะฮ” หรือการแตกแยกออกเป็นพรรคเป็นพวก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของบรรดาหะดีษต่างๆ ที่กล่าวถึงความสำคัญของญะมาอะฮ และห้ามการแตกแยก

ด้วยความหมายนี้เช่นกัน ที่ท่านอับดุลฮ บินอับบาส(เราะฎิฯ)ได้กล่าวเอาใว้ในการตัฟซีรอายะฮที่ว่า…

วันซึ่งหลายๆใบหน้าจะขาวผ่อง(สดใส)และหลายๆใบหน้าจะดำคล้ำ

หมายถึงบรรดาใบหน้าของชาวอะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮจะขาวผ่องใส ในขณะที่ใบหน้าของพวกบิดอะฮ และพวกกลุ่มต่างๆที่แตกแยกนั้นจะดำคล้ำ (ดูในหนังสือตัฟซีร อิบนิกะซีรเล่ม1หน้า390และอธิบายอายะห์ที่106อาลิอิมรอน)

สำหรับความหมายโดยกว้างที่สุดแล้วของคำว่า อะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ ยังรวมถึงผู้ที่เป็นมุสลิมทุกคนยกเว้นพวกอัร-รอฟีเฏาะฮ (ชีอะฮ) บางครั้งพวกบิดอะฮหรือพวกปฏิบัติตามอารมณ์บางกลุ่มก็ยังถูกเรียกรวมอยู่ในอะฮลุซซุนน
ะฮด้วยเช่น ทั้งนี้เนื่องด้วยอะกีดะอบางอย่างของพวกเขาตรงกับอะฮลุซซุนนะฮ และแตกต่างออกไปจากพวกหลงผิดกลุ่มอื่นๆ แต่ความหมายเช่นนี้ถูกนำมาใช้น้อยมากในทัศนะของอุละมาอชาวอะฮลุซซุนนะฮ ทั้งนี้เพื่อจำกัดมันอยู่เฉพาะในเรื่องปัญหาทางอะกีดะอบางประการ และเพื่อให้ตรงข้ามกับพวกต่างๆ บางพวกเท่านั้น เช่น ใช้ลักษณะของชาวอะฮลุซซุนนะฮให้ตรงข้ามกับพวกเราะวาฟิฏ ในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาเคาะลีฟะฮ และรวมทั้งปัญหาอะกีดะอต่างๆ

“อะฮลุซซุนนะฮ” จึงตรงข้ามกับ “อะฮลุลบิดอะฮ” ซึ่งประกอบด้วย 5 จำพวกใหญ่ๆ คือ เคาะวาริจญ, เราะวาฟิฏ(ชีอะฮ), มุรญีอะฮ, เกาะดะรียะฮ และญะฮะมียะฮ

ดังนั้น “อัส-สะละฟุศศอและห์” จึงมีความหมายเช่นเดียวกับ อะฮลุซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ ตามนิยามของอุละมาอระดับผู้ชี้ขาดปัญหาของชาวอะฮลุซซุนนะฮเช่นกัน บ้างก็เรียกว่า อะฮลุล-อิต-ติบาอ ซึ่งชื่อเรียกต่างๆ ทั้งหมดนี้ล้วนถูกใช้อย่างกว้างขวาง จากบรรดาอุละมาอ ชาวอัส-สะลัฟทั้งหลาย

(ดูรายละเอียดได้ในหนังสือ มัฟฮูม อะฮลิซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ อินดะอะฮลิซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ ของ ดร.นาศิร อับดุลกะรีม อัล-อะก็อล และหนังสือ มะอาลิมุล-อินฏิลาเกาะติลกุบรอ อินดะอะฮลิซซุนนะฮวัลญะมาอะฮ ของมุฮัมมัด อับดุลฮาดี อัล-มิศรีย์ และหนังสือ เคาะศออิส อะฮลิซซุนนะฮ ของอะหมัด ฟะรีด)