ภารกิจของเยาวชน(มุสลิม)


เยาวชนถือเป็นวัยที่ทรงพลังของชีวิตมนุษย์ เปรียบเสมือนกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก หากไม่มีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพแล้ว แทนที่กระแสน้ำดังกล่าวจะเป็นแหล่งพลังงานอันมีค่าและเป็นต้นกำเนิดของทุกชีวิตแล้ว มันอาจกลายเป็นต้นเหตุแห่งความสูญเสียและสร้างความพินาศได้ ดังนั้นอิสลามจึงตระหนักและให้ความสำคัญกับเยาวชน โดยมอบหมายให้เยาวชนปฏิบัติภารกิจสำคัญ ซึ่งสรุปได้ดังนี้


1. สร้างสำนึกแห่งความรับผิดชอบ

ภารกิจอันดับแรกของคนหนุ่มสาวมุสลิมคือ “การสร้างสำนึกแห่งความรับผิดชอบ” คือ พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อช่วงวัยชีวิตที่มีความสำคัญนี้ต่อหน้าอัลลอฮ์ และจะถูกสอบถามในวันกิยามะฮ์ถึง “อายุของเขาที่หมดไป ความหนุ่มของเขาที่ได้ใช้ไป” ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องเตรียมคำตอบต่อคำถามที่หนักหน่วงอันนี้ เขาได้ใช้เวลาปีแล้วปีเล่าไปอย่างไรบ้าง? ในช่วงชีวิตของวัยแห่งความมีชีวิตชีวา วัยแห่งความคึกคะนองได้ใช้ไปอย่างไร้ค่าหรือไม่? นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวเตือนคนหนุ่มสาวว่า

“จงฉกฉวยห้าประการแรก ก่อนห้าประการหลัง (จะตามมา) ความหนุ่มสาวของท่าน ก่อนวัยชรา สุขภาพที่ดีของท่าน ก่อนความเจ็บป่วย ฐานะที่ดีของท่าน ก่อนความยากจน การมีเวลาว่างของท่านก่อนที่ท่านจะมีงานยุ่ง การมีชีวิตที่ดีของท่านก่อนความตาย”

สิ่งแรกที่นะบีมุฮัมมัด ได้ให้คำเตือนคือให้ฉกฉวย “ความหนุ่มก่อนวัยชรา นี่คือ ความรับผิดชอบอันดับแรก เป็นภารกิจของหนุ่มสาวไม่ใช่วัยแห่งการละเล่นหรือวัยแห่งการระเริง จริงอยู่ว่าเป็นสิทธิที่มนุษย์ จะสนุก สร้างความรู้สึกที่สดชื่นมีชีวิตชีวาได้ในขอบเขตที่อิสลามอนุญาต แต่ไม่ได้มีความหมายว่า คนหนุ่มสาวจะต้องจมปลักอยู่กับเรื่องสนุกสนานเฮฮา เรื่องเสื่อมทรามทางศีลธรรม คนหนุ่มสาวเป็นช่วงชีวิตที่ต้องเป็น “ผู้ให้” มิใช่เป็นเพียง “ผู้รับ” หรือกลายเป็นสัญลักษณ์ของความวิตกกังวล และภาระของสังคมในการบำบัดรักษา เยียวยา


2. มีความภูมิใจต่ออิสลาม

ภารกิจข้อที่ 2 คือ การรู้สึกภาคภูมิใจต่ออิสลาม เขาต้องมีความศรัทธาอย่างสมบูรณ์ ศรัทธาต่อความยิ่งใหญ่ โดยที่อัลลอฮ์ ได้ให้เกียรติเขาด้วยคัมภีร์ที่ดีที่สุดที่ถูกประทานลงมา ด้วยนะบีที่ดีที่สุดที่ถูกส่งมา ด้วยระบอบที่ดีที่สุดที่ถูกบัญญัติให้แก่เขา

ด้วยเหตุนี้เขาต้องมีความภาคภูมิใจที่เขาเป็น “มุสลิม” ดังที่มุสลิมในยุคแรกมีความรู้สึกเช่นนั้น

“ความสูงส่งและเกียรติศักดิ์ศรี เป็นของอัลลอฮ์ เราะซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธา แต่ว่าพวกมุนาฟิกีนหารู้ไม่” (อัลกุรอาน 63: 8)

เมื่อสหายชาวเปอร์เซียของนะบีมุฮัมมัด ท่านซัลมาน อัลฟาริซีย์ ถูกถามว่า “ท่านเป็นบุตรของใคร?” ซึ่งผู้ถามต้องการจะสื่อความหมายว่า ท่านนั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเผ่าอาหรับ ท่านซัลมานสามารถตอบได้ว่า “ฉันเป็นบุตรแห่งเปอร์เซีย” หรือ “ฉันเป็นบุตรแห่งคุซโร” แต่ท่านซัลมานเลือกที่จะตอบว่า “ฉันเป็นบุตรแห่งอิสลาม”

เราต้องมีความรู้สึกภาคภูมิใจต่ออิสลาม ซึ่งอัลลอฮ์ ได้ใช้ศาสนานี้ในการสร้าง “ประชาชาติที่ดีที่สุด ที่ถูกนำออกมาสู่มนุษยชาติทั้งหลาย” และได้ใช้ศาสนานี้ในการสร้างประชาชาติให้มีลักษณะเป็น “ประชาชาติสายกลาง เพื่อเป็นพยานแก่มนุษยชาติ” ดังที่เราะซูลเป็นพยานแก่พวกเขา ซึ่งเราถูกเตรียมให้เป็นถึง “ครู” ของมนุษยชาติทั้งหมดเพื่อเป็น “พยาน” แก่พวกเขา เรา คือ “ครูของมนุษยชาติ” พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ มนุษยชาติทั้งหมดกำลังเรียกหาเราอยู่


เมื่อหันมาดูโลกตะวันตก เป็นความความจริงที่ว่าพวกเขาสามารถโบยบินไปในท้องฟ้าได้อย่างเสรี เสมือนนก สามารถแหวกว่ายและดำดิ่งลงสู่ท้องมหาสมุทรได้เสมือนปลา แต่ว่าพวกเขาไม่สามารถเดินบนหน้าแผ่นดินได้เหมือนมนุษย์ พวกเขาไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในตัวตน หรือระหว่างเขากับอัลลอฮ์ หรือระหว่างเขากับมนุษย์ เพราะพวกเขาจมปลักในลัทธิบูชาวัตถุที่อคติ พวกเขาได้กระทำสิ่งต่างๆ อย่างเกินขอบเขต พวกเขาต่างประสบกับความว่างเปล่าทางด้านอะกีดะฮ์ (หลักยึดมั่น) พวกเขาต้องเผชิญกับความทุกข์ความกังวลในจิตใจ ต้องพบกับปัญหาครอบครัวที่แตกแยก และต้องเจ็บปวดกับการล่มสลายของบุคลิกภาพและจรรยามารยาท และสังคมของพวกเขากำลังเดินไปสู่ทางที่หลงผิด กล่าวได้ว่าอารยธรรมของตะวันตกไม่ได้มอบความสุขที่แท้จริง ช่างประหลาดที่มนุษย์สามารถเดินทางไปถึงดวงจันทร์ แต่ไม่สามารถค้นหาความสุขบนพื้นโลกได้

พวกเขาต้องการ “สาสน์” ใหม่ “สาสน์” นี้จะให้ศรัทธาโดยไม่ได้ห้ามการเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ “สาสน์” นี้ให้ชีวิตในอาคิเราะฮ์ แต่ไม่ได้แยกชีวิตออกจากความเป็นจริงแห่งโลกนี้ “สาสน์” นี้ให้แนวคิดการเคารพภักดีที่แท้จริง โดยไม่ได้ห้ามที่จะเกี่ยวข้องสิ่งที่ดีในชีวิต เขาต้องการ “สาสน์” ที่ได้ดุลยภาพ มีความพอดี แน่นอนที่สุดว่า “สาสน์” แห่งดุลยภาพนี้มีอยู่ในการครอบครองของมุสลิม

ดังนั้นเป็นภาระหน้าที่ของมุสลิมที่จะต้องภูมิใจกับอัญมณีอันทรงคุณค่าที่อยู่ในการครอบครอง เราต้องรู้จักคุณค่าของตัวเราเอง นี่คือภาระกิจอีกข้อหนึ่งของบรรดาคนหนุ่มสาวมุสลิม


3. ทำความเข้าใจอิสลาม

ภารกิจข้อที่ 3 ของคนหนุ่มสาวคือ การทำความเข้าใจในอิสลาม ดั่งที่นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า

“ใครที่อัลลอฮ์ประสงค์ให้ได้รับความดี พระองค์ก็จะให้เขามีความเข้าใจในเรื่องของศาสนา”

ความภูมิใจต่ออิสลามนั้นยังไม่เพียงพอ เพียงแค่กล่าวว่า “เราคือมุสลิม” “เราคือประชาชาติที่ดีที่สุด” “เราคือประชาชาติสายกลาง” โดยที่ไม่มีความเข้าใจในศาสนาของตนเอง จึงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เราต้องทุ่มเทมุ่งมั่นเพื่อทำความเข้าใจต่อศาสนานี้ ตามความจริงที่ปรากฏอยู่

มุสลิมได้ผ่านยุคต่างๆ มีคนจำนวนมากได้บิดเบือนต่อหลักคำสอน เสมือนพวกเขาใส่เสื้อกลับด้าน ท่านอะมีรุลมุมินีน อลี ร.ฎ ได้กล่าวว่า “ผู้คนทั้งหลายทำให้ความเข้าใจ (ศาสนา) คลาดเคลื่อนพวกเขาแบ่งศาสนาออกเป็นส่วน ๆ พวกเขาทำมันเหมือนกับเนื้อที่เป็นก้อนๆ พวกเขาได้เฉือนมันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย”

อิสลามเป็นคำสอนที่สมบูรณ์ครบถ้วน ประกอบไปด้วยเรื่องของโลกนี้และโลกหน้า ประกอบไปด้วยเรื่องของสิทธิและภาระหน้าที่ มีทั้งส่วนที่เรียกว่า “ศาสนา” และส่วนที่เป็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อิสลามได้วางกฏหมายทั้งในเรื่องปัจเจกชน ครอบครัว สังคม รัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อิสลามคือ ระบอบที่สมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อให้มนุษย์ได้ดำเนินชีวิตได้ครบครัน แม้กระทั่งก่อนเกิด ตอนที่เขายังเป็น “ตัวอ่อน” ในครรภ์มารดา จนกระทั่งสิ้นชีวิตก็ยังมีกฏหมายว่าด้วยการจัดการศพ นี่คือคำสอนเพื่อมนุษยชาติมีรายละเอียดในทุกช่วงของชีวิตมนุษย์ นี่คือคำสอนเพื่อมนุษยชาติที่ปรากฏอยู่ในทุกด้านของชีวิตมนุษย์ ฉะนั้นเราจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำความเข้าใจอิสลามในรูปแบบที่สมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง และต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจอิสลาม และด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮ์ เรามีห้องสมุดอิสลามที่บรรจุหนังสือและตำราที่อธิบายคำสอน และต้องรู้จักเลือกสิ่งดีๆมาศึกษา เพราะหนังสือทุกเล่มที่นำมาวางอยู่ในตลาดไม่สามารถอ่านได้ทุกเล่ม หนังสือเหล่านี้มีที่เป็นฟองน้ำ มีทั้งที่เป็นคุณและให้โทษ มีทั้งที่เป็นยาพิษและโอสถ การรู้จักเลือกสิ่งที่ดีมาอ่านโดยอาศัยคำแนะนำของอุลามาอ์ที่เชื่อถือได้ นักปรัชญาคนหนึ่งได้กล่าวว่า “จงบอกมาซิว่าท่านอ่านหนังสืออะไร ฉันก็จะบอกได้ว่าท่านเป็นคนอย่างไร”

เยาวชนมุสลิมต้องมุ่งทำความเข้าใจอิสลาม ผ่านการอ่าน ผ่านการฟังบรรยายของบรรดาอุลามาอ์ต่างๆ และต้องแยกแยะให้ออกสิ่งที่เราอ่านและฟัง ระหว่างสิ่งที่ควรและสิ่งที่ไม่ควร เราต้องทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง จนกระทั่งสามารถเข้าไปสู่ศาสนาด้วยบะศีเราะฮ์ (หลักฐานที่ชัดเจน) มีความชัดเจนแจ่มแจ้งเกี่ยวกับเรื่องพระผู้เป็นเจ้า เรื่องของตนเอง ดั่งที่บรรดากัลป์ยาณชนยุคแรกได้กล่าวว่า “แท้จริงอิบาดะฮ์ที่ไม่มีความรู้และความเข้าใจ สร้างความเสื่อมเสียมากกว่าสร้างสรรค์” เราไม่สามารถปฏิบัติอิบาดะฮ์ให้บรรลุเป้าหมายของมันได้ เว้นแต่ด้วยความรู้ ซึ่งการขาดความรู้ อาจทำให้เราปฏิบัติ อิบาดะฮ์ไปพร้อมกับเรื่องบิดอะฮ์ (การอุตริในเรื่องศาสนา)และทุกๆ บิดอะฮ์ คือความหลงผิด และต้องแยกบัญญัติอิสลามที่อัลลอฮ์ กำหนด ออกจากสิ่งที่ไม่ใช่บัญญัติอิสลาม ต้องรู้จักอิสลามจนสามารถแยกระหว่างสิ่งที่เป็นซุนนะฮ์ออกจากสิ่งที่ไม่ใช่ซุนนะฮ์ รู้จักแยกแยะระหว่างสิ่งที่หะรอมและสิ่งที่หะลาล รู้จักแยกแยะสิ่งที่ถูกออกจากสิ่งที่ผิด เราไม่สามารถทำเช่นนี้ได้เว้นแต่เราต้องมีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอัลลอฮ์ และเราะซูล นี่คือภารกิจข้อที่ 3


4. จงเลือกเดินบนทางสายกลาง

ภารกิจข้อที่ 4 จงเลือกเดินบนทางสายกลาง ซึ่งเป็นแนวทางที่สมดุล แนวทางที่สมส่วนและพอดี ขอให้ออกห่างให้ไกลจากแนวทางที่สุดโต่ง และแนวทางที่คับแคบ อัลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ว่า

“และชั้นฟ้านั้นพระองค์ทรงยกมันไว้สูง และทรงวาง ความสมดุล ไว้เพื่อพวกเจ้าจะไม่ละเมิดในเรื่อง ความสมดุล และจงดำรงการชั่งอย่างเที่ยงธรรม และอย่าให้ขาดหรือหย่อนในความสมดุล” (อัลกุรอาน55: 7-9)

แนวทางนี้ไม่ละเมิดออกจากขอบเขต หรือไปกำหนดให้มันคับแคบ ไม่มีการเกินเลย หรือไปจำกัดมันไม่มีการเลยเถิดเกินพอดี หรือไปปฏิเสธ นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“พวกท่านจงระวังความสุดโต่ง แท้จริงผู้คนก่อนหน้าพวกท่านได้พินาศไปแล้ว เนื่องจากความสุดโต่งในเรื่องศาสนา” (รายงานจากท่านอิบนุอับบาส)

มีรายงานจากท่านอิบนุ มัสอูด ซึ่งนะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า

“พวกสุดโต่งได้พินาศแล้ว พวกสุดโต่งได้พินาศแล้ว พวกสุดโต่งได้พินาศแล้ว”

พวกสุดโต่ง ได้แก่พวกที่กระทำเลยเถิดเกินที่กำหนดไว้ พวกเหล่านี้ได้ออกจากขอบเขตที่ศาสนาทำให้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยอัลกุรอานและซุนนะฮ์ เพราะฉะนั้น พวกที่ทำตัวเกินเลย คือกลุ่มที่จะพินาศ พวกที่ทำตัวสุดโต่ง คือกลุ่มที่จะพินาศ เรื่องนี้ท่านอะลี บิน อบี ฏอลิบ ได้กล่าวว่า “พวกท่านจงยึดทางสายกลาง ผู้ที่อยู่หลัง (หย่อนยาน) ต้องยึดมัน ส่วนผู้ที่เลยไปแล้วต้องหวนกลับ” ฉะนั้น พวกที่เฉื่อยชาต้องหันมายึดแนวทางนี้ ส่วนพวกที่รีบร้อนต้องหวนกลับมาหาแนวทางนี้คือ “แนวทางสายกลาง” ท่านอีหม่ามฮะซัน อัลบัศรีย์ ได้กล่าวว่า “ศาสนานี้อยู่ระหว่างพวกที่สุดโต่งกับพวกที่หย่อนยาน”

เราต้องการให้แนวทางสายกลาง เป็นแนวทางของประชาชาติสายกลาง เราต้องการให้คนหนุ่มสาวมีความเข้าใจอิสลาม แล้วอย่าได้ทำตัวเลยเถิด และในทางกลับกันอย่าทำตัวคับแคบเช่นกัน คนหนุ่มสาวของเราจงอย่าทำตัวเกินเลย ในทำนองเดียวกันอย่าปฏิเสธบางอย่างที่อัลลอฮ์ ทรงอนุมัติ

เราต้องการให้คนหนุ่มสาวละทิ้งท่าทีที่แข็งกร้าวในการดะวะฮ์ ขอให้พวกเขาสร้างงานดะวะฮ์โดยผ่าน “วิทยปัญญาและคำตักเตือนที่ดี” ดังที่อัลลอฮ์ ได้สั่งไว้ให้มีความนุ่มนวลและสุภาพ อัลลอฮ์ ได้กล่าวถึงเราะซูลของพระองค์ไว้ว่า

“และหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้า และมีจิตใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบ ๆ เจ้ากันแล้ว” (อัลกุรอาน 3:159)

เราปราถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างแนวทางที่สมดุลและมีความนุ่มนวล เมื่อความนุ่มนวลเข้ามาในเรื่องใด เรื่องนั้นก็จะถูกประดับประดาให้สวยงาม แต่เมื่อใดที่ความแข็งกร้าวเข้ามา เรื่องนั้นก็ถูกเมิน ดังที่ นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวแก่ท่านหญิงอาอีซะฮ์ เกี่ยวกับจุดยืนหนึ่งที่ท่านหญิงได้มีท่าทีที่แข็งกร้าวกับพวกยะฮูดีย์(ยิว) ซึ่งพวกนี้ได้จงใจสร้างความเจ็บใจให้แก่นะบีมุฮัมมัด โดยพวกเขากล่าวทักนะบีมุฮัมมัด ว่า “อัสซามุ อะลัยกะ ยา นะบีมุฮัมมัด” (หมายถึงความพินาศและความตายจงมีแด่ท่านโอ้มุฮัมมัด) ทำให้ท่านหญิงอาอีซะฮ์ตอบกลับไปว่า “อัซซามุและอัล-ละอ์นะฮ์ (การสาปแช่งและห่างไกลจากความเมตตา) จงประสบแก่พวกเจ้า ศัตรูของอัลลอฮ์” นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวต่อท่านหญิงว่า “โอ้ อาอิซะฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักความนุ่มนวลในการงานทุกประการ” ท่านหญิงอาอีซะฮ์กล่าวว่า “ท่านไม่ได้ยินในสิ่งที่พวกเขากล่าวหรือ นะบีมุฮัมมัดของอัลลอฮ์” นะบีมุฮัมมัด ตอบว่า “ฉันได้ยินแล้ว และฉันได้ตอบ (เพียงคำว่า) วะอะลัยกุม (และแก่พวกท่านก็เช่นเดียวกัน) ไปแล้ว” ดังนั้น เมื่อพวกเขากล่าว “อัซ-ซาม” หมายถึงความตายความพินาศจงมีแก่ท่าน ก็กล่าวตอบว่าแก่พวกท่านก็เช่นเดียวกันเป็นการเพียงพอแล้ว อัลลอฮ์ ได้กล่าวว่า

“แท้จริงเจ้าจะต้องตาย และแท้จริงพวกเขาจะต้องตาย” (อัลกุรอาน 39: 30)

“และเราไม่ได้ทำให้บุคคลใดก่อนหน้าเจ้าอยู่ยั่งยืนนาน หากเจ้าตายไป พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ยืนยงตลอดไปกระนั้นหรือ” (อัลกุรอาน 21: 34)

นี่แหละ คือบุคลิกของนะบีมุฮัมมัด ที่มีความนุ่มนวลและสุภาพแม้กระทั่งต่อศัตรูผู้หยิ่งยโส


5. ต้องเข้าใจอิสลามอย่างถ่องแท้ โดยการแปรเปลี่ยนสู่ชีวิตจริง

หลังจากที่ได้เข้าใจอิสลาม ผ่านการอ่าน การฟัง การเข้าร่วมงานวิชาการต่างๆ เราต้องถามต่อไปว่า อิสลามที่เรารับรู้ เป็นเพียงวัฒนธรรมในเชิงนามธรรม ที่เข้ามาเติมเต็มสู่สมองของมนุษย์ที่เป็นมุสลิมเท่านั้นเองหรือ? อิสลามเป็นเพียงการอ่านหนังสือและการชุมนุมทางวิชาการเท่านั้นเองหรือ? เราได้พบเห็นนักบูรพาคดีที่ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับอิสลามอย่างมากมาย (แต่พวกเขาก็ไม่ได้เป็นมุสลิม) ถึงตอนนี้ เราต้องยอมรับแล้วว่า ความรู้ ต้องควบคู่กับการปฏิบัติไปด้วย กลุ่มอายะฮ์แรกที่ถูกประทานลงมาได้แก่

ความว่า “จงอ่าน! ด้วยนามของผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงสร้างมนุษย์มาจากเลือดก้อน จงอ่าน! และผู้เป็นเจ้าของเจ้า ผู้ทรงเอื้อเฟื้อยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” (อัลกุรอาน96: 1-5)

กลุ่มอายะฮ์แรก สั่งให้อ่าน เพราะการอ่านเป็นกุญแจดอกสำคัญแห่งความรู้ แต่อัลลอฮ์ ได้ประทานกลุ่มอายะฮ์ถัดไปหลังจากนี้ได้แก่

“โอ้ผู้ห่มกาย จงลุกขึ้นและตักเตือน และแด่ผู้เป็นเจ้าของเจ้าจงให้ความยิ่งใหญ่ และแก่เสี้อผ้าของเจ้านั้นจงทำความสะอาด และสิ่งสกปรก ก็จงหลบหลีกให้ห่างเสีย และอย่างทำคุณ เพื่อหวังการตอบแทนอันมากมาย และแด่พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าเท่านั้น จงอดทน” (อัลกุรอาน 74 : 1-7)

กลุ่มอายะฮ์ถัดไปที่ตามมาเป็นครั้งที่สอง ได้สั่งใช้ให้เราลงสู่ภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้นความรู้ต้องอยู่พร้อมกับการปฏิบัติ ความรู้ที่เป็นเพียงทฤษฎีแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งที่จะพิสูจน์ในวันกิยามะฮ์ คือคำถามว่า “อะไรที่ท่านได้ทำไป?” ไม่ได้ถามว่า “ท่านมีความรู้มากมายแค่ไหน?” และ “มีดีกรีทางวิชาการระดับใดบ้าง?”

มนุษย์จะต้องแปรเปลี่ยนวิชาความรู้ให้เป็นการปฏิบัติ ความรู้จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้มีชีวิตตามรูปแบบอิสลามที่ถูกต้องสมบูรณ์ และเจริญเติบโตขึ้น นี่คือภารกิจของมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุ่มสาวมุสลิม

ความรู้ต้องมีเพื่อการปฏิบัติ ความรู้ที่ไม่มีการกระทำเหมือนกับเมฆที่ก่อตัวแต่ไร้ฝน หรือเป็นพืชพันธุ์ที่งอกงามแต่ไม่ออกดอกออกผล ด้วยเหตุนี้เองท่านะบีมุฮัมมัด ได้ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮ์ ให้รอดพ้นจากความรู้ที่ไม่ยังประโยชน์ เพราะด้วยความรู้จะเกิดเป็นภาพสะท้อน เหมือนกระจกที่สะท้อนในสิ่งที่เรารู้จากศาสนา ส่วนคนที่อ่านและมีความเข้าใจแต่เขามีชีวิตที่ห่างไกลจากการปฏิบัติ เหมือนเขาอยู่ในหุบเขาหนึ่ง ส่วนความรู้ศาสนาเหมือนอยู่ในอีกหุบเขาหนึ่ง เขาได้แยกแยะระหว่างความรู้และความตั้งใจ ระหว่างปัญญาและความศรัทธา ระหว่างความคิดและความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมไม่เป็นที่ยอมรับ

เมื่ออัลลอฮ์ ได้กล่าวเกี่ยวกับหลักศรัทธาให้ในอัลกุรอาน อัลลอฮ์ ได้กล่าวในรูปของการปฏิบัติ ที่ประกอบมาเป็นการกระทำต่างๆ และจรรยามารยาท

“แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในละหมาดของพวกเขา และบรรดาผู้ที่ผินหลังให้เรื่องไร้สาระต่าง ๆ และบรรดาที่พวกเขาเป็นผู้บริจาคซะกาตและบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษา (ไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของ) ทวารของพวกเขา” (อัลกุรอาน 23: 1-5)

“และบรรดาที่พวกเขาเป็นผู้ที่เอาใจใส่ที่ได้รับมอบหมายของพวกเขา และสัญญาของพวกเขา และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาการละหมาดของพวกเขา” (อัลกุรอาน 23: 8-9)

“การกระทำ” เป็นสิ่งที่ต้องการจากคนหนุ่มสาวมุสลิม เราต้องการให้พวกเขาแปรเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่สร้างสรรค์ ตัวเขาเองได้รับประโยชน์จากความรู้นี้ สังคมก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน นี่คือภารกิจของคนหนุ่มสาว การอ่าน การฟังบรรยายจากบรรดาโต๊ะครูอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ถ้าหากเรายังไม่ปรับเปลี่ยนไปสู่การประพฤติและการแสดงออกโดยการปฏิบัติ

อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อความเมตตาแก่โลกทั้งผอง” (อัลกุรอาน 21: 107)

เราต้องการให้คนหนุ่มสาวเป็นกระจกในความความเมตตานี้ ดังที่อัลลอฮ์ได้ส่งนะบีมุฮัมมัด ซึ่งท่านได้กล่าวถึงตัวท่านว่า

“ฉันเป็นของกำนัลแห่งความเมตตา”


6. รับใช้สังคม

ภารกิจข้อต่อไป คือคนหนุ่มสาวต้องเข้าไปรับใช้สังคม ซึ่งเป็นงานที่ดี หลังจากที่ได้ปฏิรูปตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ ต้องหันมาสู่การรับใช้ผู้อื่น หันมาสู่การปฏิรูปผู้อื่น ต้องทำงานรับใช้สังคมที่อาศัยอยู่ สังคมต้องการความช่วยเหลือ สังคมต้องการความกระตือรือร้น อิสลามไม่อนุญาตให้ทำตัวอยู่บนหอคอยงาช้าง ถือว่าตนเองเป็น “ปัญญาชน” แต่ปล่อยให้มีคนที่ไม่รู้หนังสือ ขาดความรู้ หน้าที่ของพวกเขาต้องสอนหนังสือให้กับผู้ที่ไม่รู้ ต้องฝึกหัดคนว่างงานถ้าหากพวกเขามีความสามารถที่จะทำได้ ต้องชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้แก่ผู้คน ต้องเผยแผ่ให้คำตักเตือนแก่ผู้คน ให้เห็นถึงความจำเป็นในการรักษาความสะอาด หรือด้วยการนำสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งที่เป็นอัตรายออกจากท้องถนน หน้าที่ของคนหนุ่มสาวคือการลงไปสู่สังคม พัฒนาสังคมจากความไม่รู้ ให้ได้รับแสงสว่างจากความมืดมิด ให้สังคมรู้จักแนวทางที่ถูกต้อง

คนหนุ่มสาวจำนวนมากมีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่า เป็นความไร้ค่าที่ไม่ได้สร้างประโยชน์แก่ใครเลย การอยู่ไปวันๆ เสมือนว่าเขากำลังทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเขาต้องจัดการกับวันเวลาที่ไร้ค่าเหล่านี้ ด้วยการผลิตงานที่มีประโยชน์ และงอกเงยเป็นดอกเป็นผล คืองานรับใช้สังคม อิสลามถือว่างานชนิดไหนก็ตามที่รับใช้สังคมถือว่าเป็น “อิบาดะฮ์” การที่เรานำสิ่งขีดขวางทางจราจรออกจากถนนเป็นเศาะดะเกาะฮ์(การทำทาน) คำพูดที่ดีไพเราะถือว่าเป็นเศาะดะเกาะฮ์ การห้ามปรามจากความเลยร้ายถือว่าเป็นเศาะดะเกาะฮ์ การยิ้มให้กับพี่น้องถือว่าเป็นเศาะดะเกาะฮ์ งานชนิดไหนก็ตามที่ทำไปเพื่อช่วยเหลือสังคมถือว่าเป็นเศาะดะเกาะฮ์ การบริจาคหรือเศาะดะเกาะฮ์มิใช่แค่เรื่องของทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น ยังมีเศาะดะเกาะฮ์ที่เรียกว่า เศาะดะเกาะฮ์ทางสังคม เศาะดะเกาะฮ์ทางวัฒนธรรม เศาะดะเกาะฮ์ทางความรู้ ฉะนั้นมนุษย์ทุกคนสามารถจ่ายเศาะดะเกาะฮ์ได้ เพื่อรับใช้สังคมของเขา

ฉะนั้นจึงไม่มีสิทธิปฏิเสธการรับรู้ว่าสังคมยังขาดอะไรบ้าง? เราจะพัฒนาฟื้นฟูสังคม จนไปสู่ระดับที่ได้มาตรฐาน ทำให้สังคมยืนอยู่บนสถานะที่แท้จริงภายใต้แสงตะวันแห่งอิสลาม นี่คือภารกิจของคนหนุ่มสาวมุสลิม ที่เขาจะต้องครุ่นคิดเกี่ยวกับการรับใช้สังคม และการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า


7. ก้าวมารับงานดะวะฮ์ (การเรียกร้องเชิญชวน)

ภารกิจข้อที่ 7 คือ การดะวะฮ์สังคมสู่อิสลาม ดั่งที่ได้ศึกษามา ดั่งที่ได้เข้าใจอิสลามอย่างถูกต้อง จึงจำเป็นที่เขาต้องให้ความรู้ความเข้าใจต่อคนอื่นๆ จำเป็นที่ต้องดะวะฮ์ผู้อื่นมาสู่อิสลาม จำเป็นที่ต้องทำงานเพื่ออิสลาม ดั่งที่ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่


การทำให้อิสลามปรากฏในภาพที่สวยงามในตัวเองนั้น ยังไม่เพียงพอ อิสลามได้วางภาระเหนือมุสลิมทุกคนในการดะวะฮ์คนอื่นมาสู่อิสลาม จงปฏิรูป(อิสลาฮ์)ตัวเองและออกไปดะวะฮ์คนอื่นๆ

อัลลอฮ์ได้กล่าวไว้ว่า

“และใครเล่าจะมีคำพูดดีเลิศยิ่งไปกว่าผู้เชิญชวน(ดะวะฮ์)ไปสู่อัลลอฮ์ และเขาปฏิบัติการงานที่ดี และเขากล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นอบน้อม” (อัลกุรอาน 41: 32)

มุสลิมทุกๆคนต้องตอบรับคำของอัลลอฮ์ ที่ว่า

“จงเรียกร้อง(ดะวะฮ์)ไปสู่แนวทางของผู้อภิบาลของเจ้าด้วยฮิกมะฮ์(วิทยปัญญา) และการตักเตือนที่ดี” (อัลกุรอาน 16: 125)

และนี่คือแถลงการณ์ของท่านนะบีมุฮัมมัด และเป็นแถลงการณ์ของประชาชาตินี้ อัลลอฮ์ ได้บอกให้เราะซูล ประกาศว่า

“จงกล่าวถึงเถิด(มุฮัมมัด) “นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้อง(ดะวะฮ์)ไปสู่อัลลอฮ์ บนบะศีเราะฮ์(หลักฐานที่ประจักษ์แจ้ง)ทั้งตัวฉันและผู้ปฎิบัติตามฉัน และมหาบริสุทธิ์แห่งอัลลอฮ์ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี” (อัลกรุอน 12: 108)

ขอย้ำถึงภารกิจนั้นอีกครั้งว่า

“ฉันเรียกร้อง(ดะวะฮ์)ไปสู่อัลลอฮ์ บนบะศีเราะฮ์(หลักฐานที่ประจักษ์แจ้ง)ทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน”

ถ้าเรานับตนเองเป็นผู้ที่ดำเนินตามนะบีมุฮัมมัด จำเป็นที่เราต้องทำงานดะวะฮ์ เรียกร้องผู้คนไปสู่อัลลอฮ์ เรียกผู้คนโดยอาศัย “บะศีเราะฮ์” (หลักฐานที่ประจักษ์ชัดแจ้ง) มุสลิมทุกคนต้อง เรียกร้องผู้คนไปสู่อัลลอฮ์ตามศักยภาพของแต่ละคน ตามลำดับความแตกต่างของมนุษย์ บางคนอาจจะทำงานโดยการเรียบเรียงหนังสือ บางคนอาจทำงานโดยการจัดปราศรัยบรรยายให้ความรู้ บางคนจัดอบรมต่างๆ บางคนประพฤติตัวเป็นแบบอย่างแก่คนอื่น บางคนใช้คำพูดที่ดีงาม ที่ถูกต้อง ด้วยการปลุกเร้ามนุษย์ให้กระทำความดี ทุกๆ คนต้องทำงานดะวะฮ์ตามกำลังความสามารถของตนเอง

พวกเราต้องเป็นผู้ เรียกร้องเชิญชวนไปสู่อิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาคนหนุ่มคมสาวทั้งหลาย ต้องเผยแพร่สาสน์แห่งอิสลามไปสู่คนภายในสังคม และคนอื่นๆที่ไม่ใช่มุสลิม

เราเป็นเจ้าของศาสนาที่เป็นสากล ศาสนาที่เป็นอมตะและเป็นศาสนาสุดท้าย แล้วเหตุใดเล่าที่เราไม่พยายามทำงานเพื่อศาสนานี้ เราต้องให้ความสนใจต่อกิจการในศาสนาของเรา โดยจัดกำลังคนเพื่อศาสนานี้ ก่อนที่เราจะส่งออกไปเผยแผ่สู่ชาวโลก ต้องจัดการเผยแผ่ในสังคมที่เราอาศัยอยู่เสียก่อน ต้องให้คำชี้แจงตักเตือนต่อมุสลิมทั้งหลาย ต้องนำบรรดามุสลิมกลับไปสู่อัลลอฮ์ ด้วยวิธีการที่งดงาม ต้องให้พวกเขายึดมั่นต่ออิสลามที่แท้จริง นี่คือภารกิจของมุสลิมโดยทั่วไป


ภารกิจของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยนี้ เราไม่ต้องการคนหนุ่มที่ไม่มีความหมาย ไม่มีคุณค่า คนหนุ่มที่ออกไปตามถนนเพื่อพูดจาแทะโลมผู้หญิง หรือนั่งจับเข่าอยู่ที่บ้านเพื่อโทรศัพท์ติดต่อกับพวกผู้หญิง เหล่านี้เป็นคนหนุ่มที่ว่างเปล่า เราต้องการคนหนุ่มสาวที่ศรัทธา และมีความแข็งแกร่ง

“มุมินที่แข็งแกร่งย่อมดีกว่าและเป็นที่รักต่ออัลลอฮ์มากกว่ามุมินที่อ่อนแอ”

เราต้องการคนหนุ่มสาวที่แข็งแกร่งทั้งด้านความคิดความอ่าน แข็งแกร่งในเรื่องของศรัทธา แข็งแกร่งทั้งร่างกายและความตั้งใจที่แน่วแน่ แข็งแกร่งในวิญญาณ ความแข็งแกร่งเหล่านี้ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวของเรา


ครั้งหนึ่งท่านอะมีรุล มุมีนีน อุมัร อิบนุ อัล-ค็บฏฏอบ ร.ฎ. ได้มองเห็นคนหนุ่มคนหนึ่งกำลังละหมาดอยู่ในมัสยิด ท่านพบว่าเขามีอาการคอและศรีษะตก(ด้วยความสำรวม) ท่านได้กล่าวแก่เขาว่า

“โอ้ นี่ (เจ้าหนุ่ม) เจ้าอย่าทำให้ศาสนาของเราต้องตาย อัลลอฮ์ จะทำให้เจ้าตาย จงยกศีรษะของเจ้าขึ้นมา แท้จริงความคุซุอ์(ความสำรวม)นั่นอยู่ที่หัวใจ ไม่ได้อยู่ที่ต้นคอ”

ครั้งหนึ่ง เศาะฮาบะฮ์ที่เป็นสตรีนางหนึ่งได้เห็นคนหนุ่มสองคนกำลังเดินอยู่บนถนนเหมือนคนกำลังจะตาย นางถามว่า “พวกนี้เป็นใคร” มีคนตอบว่า “พวกนี้เป็นพวกที่อุทิศตน (เพื่อเข้าใกล้อัลลอฮ์)” นางจึงกล่าวแก่พวกเขาว่า “ท่านอุมัรนั้นเมื่อเดินก็จะเดินอย่างรวดเร็ว เมื่อพูดก็พูดจนคนได้ยิน เมื่อตีก็ตีจนเจ็บ และนี่คือคนที่เป็นนักอุทิศตน (เพื่ออัลลอฮ์) ที่แท้จริง” ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านอุมัรมี เป็นความแข็งแกร่ง เมื่อท่านพูด ท่านก็พูดจนคนได้ยิน เมื่อท่านเดินท่านก็เดินอย่างรวดเร็ว เมื่อท่านตีท่านก็ตีจนเจ็บ ท่านอุมัรนี่แหละที่ถือว่าเป็นผู้อุทิศตนต่ออัลลอฮ์ อย่างแท้จริง

เราต้องการให้คนหนุ่มสาวของเราเจริญรอยตามแบบอย่างนี้ ทั้งในการดำเนินชีวิต และการใช้ชีวิตเพื่ออิสลาม การเผยแผ่อิสลาม การให้ความรู้อิสลาม เราต้องการให้มีคนเช่นนี้เกิดขึ้นเพื่อความสูงส่งของอิสลาม


8. ติดอาวุธทางปัญญา

โลกมุสลิมถูกจัดเป็นโลกที่แตกต่างจากแต่ก่อน ซึ่งมีการเรียกว่า “โลกที่สาม” และประเทศมุสลิมบางประเทศหากมีโลกที่สี่ ก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ “ความไม่รู้หนังสือ” ได้ครอบคลุมส่วนใหญ่ของประเทศมุสลิม ที่สำคัญได้มีคนจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อว่า สาเหตุแห่งความล้าหลังเช่นนี้ มาจากอิสลาม ข้อกล่าวหานี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

มุสลิมในอดีตปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของความถูกต้อง อิสลามเป็นศาสนาที่แท้จริง พวกเขาเป็นประชาชาติอันดับหนึ่งหรือเป็นที่หนึ่งในโลกดุนยา ประมาณสิบกว่าศตวรรษที่มุสลิมเป็นผู้นำโลก โลกต้องมาศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของมุสลิม ภาษาอาหรับเป็นภาษาแห่งวิทยาการต่างๆ ชาวยุโรปคนใดก็ตามที่ต้องการเป็นผู้มีการศึกษา เป็นปัญญาชน หรือเป็นผู้ที่มีความก้าวหน้า เขาจะต้องพูดบางคำในภาษาของเขาด้วยภาษาอาหรับ เหมือนคนจำนวนมากในยุคนี้ เมื่อต้องการพูดจะเอาศัพท์ภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสเข้ามาผสมกับคำพูดด้วย เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาเป็นคนหัวก้าวหน้า เป็นคนที่มีการศึกษาและศิวิไลส์

นั่นคืออดีต และเราต้องกลับไปสู่สถานะอย่างเดิมให้ได้ และเราจะกลับไม่ได้เว้นแต่การสร้างความสมบูรณ์แบบในวิชาความรู้ และการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ ไม่ใช่เพียงแค่วิชาความรู้ทางด้าน “ชะรีอะฮ์” เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงวิชาการทุกแขนงบนโลกนี้ จึงจำเป็นที่ต้องพัฒนาศาสตร์แห่งความรู้ทุก ๆ ด้าน เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ดาราศาสตร์ พฤกษศาสตร์ เป็นต้น เราต้องกลับไปครอบครองวิทยปัญญาเหล่านี้อีกครั้ง มุสลิมทุกวันนี้ไม่ใช่คนที่โง่เขลา มีคนมากมายที่มีความสามารถโดดเด่น มีนักอัจฉริยะในทุกๆ ด้าน และเราหวังให้ลูกหลานได้เข้ามาอุทิศตนเพื่อแสวงหาความรู้ให้มากกว่าทุกวันนี้ บรรดาสลัฟได้กล่าวว่า “แท้จริงความรู้จะไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งแก่ท่าน จนกว่าท่านจะทุ่มเททุกส่วนของท่านให้กับมัน” ดังนั้นเราต้องเสียสละเพื่อหาความรู้ ด้วยความอุตสาหะ ด้วยความเอาใจใส่ ด้วยการสละเวลา ด้วยการใช้สมองอย่างเต็มที่ และท่านจะได้รับเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะความรู้เหมือนกับมหาสมุทรที่ไม่มีชายฝั่ง ไม่มีขอบเขตที่กำหนดไว้ ดั่งที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ว่า

“และพวกท่านจะไม่มีความรู้ใด ๆ เว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (อัลกุรอาน17: 85)

เมื่ออยู่ในสนามจึงต้องแข่งขัน ต้องพยายาม มานะ บากบั่น ต่อสู้ดิ้นรน นี่คือภารกิจ จึงขอสั่งเสียให้คนหนุ่มสาวติดอาวุธทางปัญญา มนุษย์ทุกคนสามารถที่จะทำการอิบาดะฮ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยการเตรียมพร้อมจากการกระทำ นักศึกษาแพทย์ก็สามารถทำได้ นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ก็สามารถทำได้ นักศึกษาฟิสิกส์ นักศึกษาเคมี นักศึกษาวิชาดาราศาสตร์ นักศึกษาด้านนิวเคลียร์ ก็สามารถรับใช้ศาสนาได้ โดยการแสวงหาความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าของเขา แสวงหาความเป็นเลิศในสาขาวิชาที่เล่าเรียน ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะด้านชะรีอะฮ์เท่านั้นที่นำไปสู่ความใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ มีคนจำนวนมากที่ศึกษาด้านชะรีอะฮ์แต่ห่างไกลจากอัลลอฮ์ เขาได้ใช้วิชาการที่เล่าเรียนมาในการรับใช้อารมณ์ของเขาเองและของคนอื่น แสวงหาความพึงพอใจจากผู้มีอำนาจ ผู้ปกครอง แสวงหาความพึงพอใจจากคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ ด้วยเหตุนี้ความรู้ที่มีอยู่เป็นความเลวร้ายสำหรับเขาเอง นั่นเป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ จำเป็นสำหรับคนหนุ่มสาวมุสลิมที่จะแสวงหาความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ ได้เตรียมความพร้อม ทำให้เส้นทางของเขาง่ายดาย และสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการญิฮาดอันยิ่งใหญ่ในหนทางของอัลลอฮ์ เป็นการ “อิบาดะฮ์” ต่ออัลลอฮ์ที่สำคัญยิ่ง นี่คือภารกิจของเยาวชนมุสลิมข้อที่ 8


9. ติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นและความหวัง

ภารกิจข้อที่ 9 คือ การติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นและความหวัง เชื่อมั่นต่อตนเองและหวังจากพระผู้เป็นเจ้า ความเชื่อมั่นต่อวันนี้และความมั่นใจต่อวันรุ่งขึ้น เราจะไม่หมดหวัง หมดอาลัย ไม่เบื่อหน่าย เหมือนกับคนจำนวนมากในยุคนี้ เราต้องยืนหยัดอย่างมั่นคง อย่าให้ความสิ้นหวังและความเบื่อหน่ายกัดกร่อนชีวิต เราต้องเป็นผู้เชื่อมั่นว่าวันพรุ่งนี้ย่อมดีกว่าวันนี้ เราต้องเชื่อมั่นว่าวันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน สิ่งที่เราปวดร้าวอยู่ทุกวันนี้คือการสิ้นหวัง การหมดอาลัยได้เกิดขึ้นต่อคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ขณะที่มีบางคนกล่าวแก่พวกเราว่า “ไม่มีประโยชน์แล้ว ประชาชาตินี้ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อีกแล้ว สภาพของประชาชาติไม่มีวันดีขึ้นอีกแล้ว” พวกเขากล่าวว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้... การสิ้นหวังเป็นฆาตรกรที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก เพราะความรู้สึกนี้ไม่ใช่เป็นคุณสมบัติของมุสลิมที่แท้จริง

การสิ้นหวังเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกกับการปฏิเสธศรัทธา (กุฟร์) ความหมดอาลัยเป็นปรากฏการณ์ของความหลงทาง ดังที่อัลลอฮ์ ได้กล่าวว่า

“แท้จริงไม่มีผู้ใดเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮ์ เว้นแต่กลุ่มชนที่ปฏิเสธ” (อัลกุรอาน 12: 87)

อัลกุรอานได้กล่าวถึงคำพูดของนะบีอิบรอฮีม

“เขากล่าวว่า และจะไม่มีผู้ใดที่สิ้นหวังในพระเมตตาของพระเจ้าของเขา เว้นแต่ผู้ที่หลงผิด” (อัลกุรอาน 15: 56)

ไม่มีการสิ้นหวัง ไม่มีการหมดอาลัยสำหรับนะบีมุฮัมมัด และบรรดาผู้ศรัทธา พวกเขามีความหวังอยู่เสมอ ดังที่ได้เกิดขึ้นกับนะบีมุฮัมมัด ขณะที่ท่านทำหน้าที่ดะวะฮ์ในเมืองมักกะฮ์ ในขณะที่มุสลิมมีจำนวนน้อยนิดและอ่อนแอ พวกเขากลัวว่าจะถูกกวาดล้าง การทดสอบได้โถมใส่ในทุกด้าน แต่ขณะเดียวกันพวกเขากลับมีความเชื่อมั่นในการช่วยเหลือ พวกเขามีความเชื่อมั่นว่าธงแห่งการดะวะฮ์นี้จะสบัดพริ้ว อำนาจของมันจะสูงส่ง พวกเขาได้เรียกร้องผู้คนมาสู่อิสลามในช่วงเทศกาลแสวงบุญที่มักกะฮ์ และได้แสดงความยินดีเมื่อได้เข้ารับอิสลามว่าพวกเขาจะสืบทอดอาณาจักรของคุสโรและไกเซอร์ พวกเขาต้องถามกลับด้วยความประหลาดใจว่า “กุสโร บิน ฮุรมุซหรือ” ก็ได้รับคำตอบกลับว่า “ใช่ กุสโร บิน ฮุรมุซ”


มูฮัมมัด อัลฟาติห์ หรือมูฮัมมัด บิน มุรอด ผู้พิชิตนครคอนสแตนติโนเปิล เขาเป็นคนหนุ่มจากตระกูลอุษมานียะฮ์ ชาวเตอร์กเป็นผู้พิชิตนครแห่งนี้ ขณะที่มีอายุเพียง 23 ปี เขาพิชิตนครแห่งนี้ได้อย่างไร? ก่อนหน้ามีคนจำนวนมากเข้าโจมตีเพื่อพิชิตมัน แต่ก็ไม่สำเร็จ นับตั้งแต่สมัยของเศาะฮาบะฮ์มาแล้ว มูฮัมมัด อัลฟาติห์ คนหนุ่มผู้นี้ได้คิดและใคร่ครวญ เมื่อได้อ่านหะดีษบทหนึ่งที่รายงานโดยท่านฮากิมและคนอื่น ๆว่า

“แน่นอนเมืองคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิต ดังนั้นอะมีร (ผู้บัญชาการ) ที่ดียิ่งคือ อะมีรที่พิชิตเมืองนี้ กองทัพที่ดียิ่ง คือกองทัพที่พิชิตเมืองนี้”

หัวใจของมูฮัมมัด อัลฟาติห์ จึงผูกพันและใฝ่ฝันที่จะเป็นอะมีรคนนี้ กองทัพของเขาใฝ่ฝันที่จะได้เป็นกองทัพดังกล่าว เขาจึงคิดวางแผนพิจารณา และอัลลอฮ์ ได้ให้เขาพร้อมที่จะเข้าไปสร้างฝันให้เป็นจริง ในที่สุดกรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกพิชิตลง เรื่องราวที่เล่าขานเกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำมาเป็นบทเรียนหนึ่ง จากบทเรียนมากมายในประวัติศาสตร์ เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยที่ได้เข้าไปในเมืองนั้นและทำให้เมืองนั้นกลายมาเป็นเมืองหลวงแห่งอิสลามในอีกหลายศตวรรษ และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “อิสลามบูล” หรือ “อิสตันบูล” ที่เราเรียกกันอยู่ทุกวันนี้

อุซามะฮ์ บิน ซัยด์ ขณะที่นะบีมุฮัมมัด ได้แต่งตั้งเขาเป็นแม่ทัพเพื่อทำสงครามกับกองกำลังอันเกรียงไกรของอาณาจักรโรม เขามีอายุเพียง 18 ปี ทั้งที่ในกองทัพนั้นมีผู้อาวุโสจำนวนมากจากบรรดาเศาะฮาบะฮ์ ที่นะบีมุฮัมมัด ทำอย่างนี้เพราะว่าท่านต้องการฝึกฝนคนหนุ่มสาวในการก้าวเข้ามาแบกรับภารกิจความรับผิดชอบ ด้วยการติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นให้แก่พวกเขา

ในขณะที่ท่านนะบีมุฮัมมัด อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์ ท่านได้ให้ท่าน อลี บิน อบี ฏอลิบ มานอนแทนที่ท่าน ซึ่งต้องเผชิญกับอันตราย แล้วได้มอบหมายให้ท่านอลีคืนของฝากต่างๆ ให้แก่เจ้าของ ถึงแม้ว่าพวกมุชรีกีนจะเป็นศัตรู และขัดแย้งกับท่าน แต่พวกนั้นยังไว้ใจท่านให้ดูแลสิ่งมีค่าต่างๆ จากทรัพย์สินของพวกเขา โดยได้มอบสิ่งของเหล่านั้นให้ท่านนะบีเก็บรักษา และนะบีมุฮัมมัด ไม่เคยพูดว่า “กลุ่มชนพวกนี้ ได้ขับไล่ฉันออกจากบ้านของฉัน ไล่ส่งฉันออกจากครอบครัวของฉัน ดังนั้นฉันก็ริบเอาทรัพย์ของพวกเขาได้” ตรงกันข้าม ท่านกลับแต่งตั้งท่านอลี (ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่ง) ทำหน้าที่คืนทรัพย์สินและของมีค่าต่างๆ รวมไปถึงสิ่งที่ท่านได้รับมอบหมายให้ดูแล คืนสู่เจ้าของ ของมัน

นะบีมุฮัมมัด ยังได้มอบหมายให้อัสมา บุตรสาว ของท่านอบูบักร ผู้มีฉายาว่า “เจ้าของสองเข็มขัด” โดยให้นำอาหารไปให้และแจ้งข่าวให้ทราบขณะที่นะบีมุฮัมมัด พร้อมด้วยท่านอบูบักรต้องหลบซ่อนจากการไล่ล่าของชาวกุร็อยช์ ในช่วงที่ทั้งสองได้อพยพสู่นครมะดีนะฮ์ ผ่านถ้ำที่มีทางเดินที่ยากลำบากเกินกว่าหญิงสาวจะเดินทางไปถึงอย่างสะดวก แต่หญิงสาวผู้นี้สามารถเดินไปถึงที่นั่นทุกวัน ท่ามกลางภยันตรายและการตรวจสอบอย่างแน่นหนาของกลุ่มผู้ไล่ล่า


บรรดาเศาะฮาบะฮ์ได้รับการมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจอีกมากมาย ดังเช่น ที่นะบีมุฮัมมัด ได้ส่งท่าน มุอาซ บิน ญะบัล ให้ออกไปเผยแผ่อิสลามที่ประเทศเยเมน ทั้งที่มุอาซอายุยังไม่ถึง 30 ปี ท่านเคยแต่งตั้งท่านอุตตาบ บิน อุซัยด์ ให้เป็นอะมีรของมักกะฮ์ทั้งที่เขาอายุ 20 เศษ ๆ

ท่านอุมัร บิน ค็อฏฏอบได้ให้คนหนุ่มเข้าร่วมในสภาบริหารของท่าน เพื่อให้คนหนุ่มสาวได้ประโยชน์จากความคิดความอ่าน ความมุ่งมั่นของผู้ใหญ่ ดั่งที่ท่านได้กล่าวแก่อิบนุอับบาสว่า “ท่านมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ โอ้ อิบนุ อับบาส จงพูดเถิด อย่าให้ความอ่อนวัยของท่าน เป็นตัวสกัดไม่ให้ท่านพูด”

ด้วยเหตุนี้ คนหนุ่มสาวต้องติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นและความหวัง เราพบว่าอีมามชาฟิอีย์ ได้เปิดสอนแก่สาธารณชนและให้คำฟัตวา(คำวินิจฉัยประเด็นศาสนา) ทั้งที่ท่านอายุได้ไม่ถึง 20 ปี ท่านได้เสียชีวิตขณะที่โลกเต็มไปด้วยความรู้ของท่าน ขณะที่ท่านมีอายุได้ 54 ปีเท่านั้นเอง

ท่านอีมามนะวาวีย์ ได้ทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยวิทยาการ ความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงวิชาหะดีษและประวัติศาสตร์ ขณะที่ท่านเสียชีวิตอายุ 40 ปีต้น ๆ เท่านั้นเอง

เราจึงต้องติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นและความหวัง

10. ร่วมมือกันระหว่างพี่น้องมุสลิม

ภารกิจข้อที่ 10 สำหรับคนหนุ่มสาว ได้แก่ การทำงานผูกพันและร่วมมือกันระหว่างพี่น้องมุสลิม การทำงานเพียงลำพังในการรับใช้ศาสนานี้ไม่เพียงพอ การทำงานเพียงคนเดียวนั้นจะตกเป็นเหยื่ออันโอชะของหมาป่าที่เข้าไปขย้ำแกะที่หลงฝูง คนที่ชอบเดินทางในซอยเปลี่ยวตามลำพัง มักจะตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชน จงตัดสินใจเข้าร่วมกับพี่น้องมุสลิม จงวางมือของเราลงบนมือของคนดีในหมู่พวกเขา จงช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้องในเรื่องของความดีและความยำเกรง อัลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ว่า

“และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮ์ โดยพร้อมเพรียง” (อัลกุรอาน 3:103)

นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวไว้ว่า

“ผู้ศรัทธากับผู้ศรัทธานั้น เสมือนกับอาคารที่ส่วนหนึ่งต้องยึดส่วนหนึ่งเอาไว้”

“มือของอัลลอฮ์อยู่ร่วมกับญะมาอะฮ์(การทำงานในองค์กร)”

ใครที่แยกตัวออกไปจากองค์กร เท่ากับแยกตัวไปสู่ไฟนรก ชัยฏอนจะอยู่กับคนที่อยู่ตามลำพัง เมื่อมีสองคน มันจะเริ่มออกห่าง นี่คือคำสอนของนะบีมุฮัมมัด จงอย่าอยู่คนเดียว เราจะประสบกับความทุกข์ใจ ความวิตกกังวล แนวคิดและมายาคติต่างๆ จะไหลเข้ามาหลอกหลอน ความหลงใหลจะเข้าไปมีอำนาจเหนือเรา จงอยู่กับพี่น้องมุสลิมแล้วจะมีพลังที่มากขึ้น การอยู่คนเดียวจะอ่อนแอ เราจะเข้มแข็งก็ต่อเมื่อได้เข้าร่วมกับพี่น้องเป็นญะมาอะฮ์ สิ่งนี้เองที่อัล-กุรอานได้ระบุไว้ว่า

“ขอสาบานด้วยเวลาแท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน ยกเว้น บรรดาผู้ศรัทธา และประกอบการดี และกระชับระหว่างกันด้วยสัจธรรม และกระชับระหว่างกันด้วยความอดทน” (อัลกุรอาน103: 1-3)

อัลกุรอานไม่กล่าวว่า إلا الذى آمن وعمل صالحا “ยกเว้นผู้ศรัทธาและทำความดี” ซึ่งเป็นในลักษณะคนเดียว(เอกพจน์) เพราะว่าต้องการให้ภาพของมนุษย์ที่รอดพ้นจากความขาดทุน เข้าร่วมกับญะมาอะฮ์ إلا الذين آمنوا “เว้นแต่ บรรดาผู้ที่ศรัทธา” ญะมาอะฮ์ คือความรอดพ้น “เว้นแต่บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดี และกระชับระหว่างกันในเรื่องสัจธรรม” คำอธิบายในทางภาษาถือว่าเป็นการกระทำระหว่างสองฝ่าย หมายถึง ให้คำเตือนกับคนหนึ่งเกี่ยวกับสัจธรรม และคนนั้นจะรับคำเตือนแห่งสัจธรรมนั้นไป จึงไม่ได้มีคนใดที่ต่ำต้อยเกินไปที่จะตักเตือนคนอื่น และไม่มีใครที่มีฐานะสูงเกินไปกว่าที่จะถูกคนอื่นเตือน นี่คือความหมายของคำว่า “กระชับระหว่างกัน” “กระชับระหว่างกันในเรื่องของสัจธรรมและกระชับระหว่างกันในเรื่องของความอดทน”

การตักเตือนกำชับกันในเรื่องของ “ความอดทน” เกี่ยวพันกับการตักเตือนซึ่งกันและกันในเรื่องของ “สัจธรรม” เพราะว่าสัจธรรมเป็นภาระที่หนัก เส้นทางแห่งสัจธรรมไม่ได้โรยไปด้วยดอกกุหลาบ แต่โรยไปด้วยขวากหนาม เป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยร่างที่ไร้วิญญาณและการพลี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องปักหลักปักฐานตัวเองลงสู่ญะมาอะฮ์ที่ดี

เราต้องการเห็นคนหนุ่มสาวร่วมมือช่วยเหลือกัน ระหว่างผู้ศรัทธาที่ประกอบคุณงามความดี ด้วยเหตุนี้เองที่ในยุคของเราได้รู้จักสมาคมต่างๆ ผู้คนหันมาทำงานกันในรูปแบบของสมาคม บางส่วนหนึ่งได้สร้างความเข้มแข็ง และเสริมพลังซึ่งกันและกัน อย่างที่ควรจะเป็น ขอให้อยู่กับพี่น้องที่ดีของเราเสมอ

อิสลามได้บัญญัติเรื่องญะมาอะฮ์ไว้ และทำให้ละหมาดญะมาอะฮ์ประเสริฐกว่าละหมาดคนเดียวถึง 27 เท่า คำสอนนี้ได้ฝังวิญญาณแห่งความเป็นญะมาอะฮ์ลงสู่เรือนร่างของผู้ศรัทธา อิสลามได้ฝังความรู้สึกและ วิธีคิดแบบญะมาอะฮ์ เช่นเดียวกันเมื่อมุสลิมคนหนึ่งได้สนทนากับพระผู้เป็นเจ้าได้อ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ แม้จะอ่านเพียงคนเดียวในบ้านตามลำพัง ก็จะกล่าวว่า “เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เขาขออิบาดะฮ์ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ” จะกล่าวด้วยประโยคที่แสดงถึงความเป็นญะมาอะฮ์ เพราะว่าญะมาอะฮ์นั้นได้อยู่ในสำนึกของเขาให้รู้ว่าเขาเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของเรือนร่าง เขาเป็นคนหนึ่งในกองคาราวาน เขาจึงสนทนากับพระผู้เป็นเจ้าด้วยรูปแบบญะมาอะฮ์ “เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขออิบาดะฮ์ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ” แม้แต่การขอดุอาอ์ก็ขอด้วยรูปแบบญะมาอะฮ์ “ขอพระองค์ชี้นำเราไปสู่ทางที่เที่ยงตรง” ไม่มีการขอ “ฮิดายะฮ์” เพียงแค่ตัวเองเท่านั้น แต่จะขอให้ผู้ศรัทธาทั้งหมด โดยรวมตัวของเขาอยู่ในกลุ่ม เพื่อว่าอาจมีอุปสรรคต่างๆ ที่ดุอาอ์ของเขาไม่ถูกตอบรับ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มผู้ศรัทธาแล้ว หวังว่าอัลลอฮ์ จะตอบรับร่วมกับพวกเขา “โปรดชี้นำเราสู่แนวทางอันเที่ยงตรง” นี่คือภารกิจข้อที่ 10



.

.

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ

อดทนไว้


เคยเหงากันบ้างไหม เคยรู้อยู่ใช่ไหม

ว่าเหงามันโหดร้ายเกินจะเปรียบ

มองหาคนข้างกายลองถามเขาบ้างไหม

ทุกคนรู้สึกเหงาเท่าเท่ากัน

อยากให้คนโลกเห็นใจอยากให้คนสงสาร

ทุกคนก็ต้องการเหมือนเหมือนกัน

โอ้ใครหนอใครช่างทำเธอให้

น้ำตาหล่นไหลหลั่งริน

จึงร้อง เพลงกล่อมทั้งคืน

ส่งไปตามสายลมโบกโบยถึงเธอ เพื่อนเอย...

ชีวิตยังมีหวังอีกยาวไกล เพื่อนเอย...

จะเศร้าจะซึ้งกันไปใย

ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ให้ค้นหา


ถึงรู้อยู่แก่ใจ ถึงคิดจนซึ้งใจ

ทำไมยังเศร้าใจ ยังเจ็บปวด

จึงหาโลกกว้างไกล ค้นหาอยู่เพียงไหน

ยังไปไม่ถึง เพียงครึ่งทาง

เพื่อนเหงาเราก็เหงา ใครเศร้าก็ปลอบใจ

ใครถม ใครจะซ้ำ ก็ช่างเขา